Saturday, September 14, 2013
นิพพานนั้นอยู่ที่ตายเสียก่อนตาย
หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ : Buddhadasa Indapanno Archives
ตอนที่ 1 "งามอยู่ที่ผี"
ท่านทั้งหลายลองคิดว่าปู่ย่าตายาย พูดผิดหรือพูดถูก พูดไปอย่างไม่รู้หรือว่าพูดอย่างรู้ แล้วเป็นคำที่มีใจความกว้างขวาง ครอบงำคำสอนทั้งหมดได้หรือไม่
เรามาพิจารณาดูความหมายของคำสี่คำนี้กันดีกว่า เพื่อจะได้รู้จักตายายของตัวเองดีขึ้น
ข้อที่ตายายว่างามอยู่ที่ผีนั้นหมายความว่า ลูกหลานสมัยนี้มันงามอยู่ที่แต่งเนื้อแต่งตัว เอาสิ่งต่างๆ มาลูบไล้ฉาบทา ดัดแปลงปรับปรุงแก้ไขเนื้อหนัง ให้มีความงามแล้วก็หลงใหลกันว่างาม ส่วนตายายนั้นบอกว่างามอยู่ที่ซากผี ให้ลองไปคิดดูว่าของใครจะถูกของใครจะจริงกว่ากัน
ไอ้เรื่องงามอยู่ที่การประดับตกแต่งนี้มันมีความหมายอย่างไร ทุกคนก็พอจะมองเห็นได้ว่า มันตกเป็นบ่าวเป็นทาส เป็นขี้ข้าของกิเลสตัณหา มันจึงจะเห็นว่างามอยู่ที่ประดับตกแต่ง ถ้าจิตใจไม่เป็นทาส เป็นบ่าวของกิเลสตัณหาแล้ว มันจะไม่มัวเหน็ดมัวเหนื่อยอยู่ด้วยการประดับตกแต่ง จะไม่สิ้นไม่เปลืองอยู่ด้วยการประดับตกแต่ง เพราะมันเป็นเรื่องหลอกลวงทั้งนั้น มันเป็นเรื่องมายา หลอกตนเองด้วย หลอกคนอื่นด้วยให้เห็นว่างาม ก็เลยหยุดกัน ไม่ไปหลงงามที่เรื่องมายาอย่างนั้น
ทีนี้มาดูว่างามที่ซากผีนั้นมันงามอย่างไร ข้อนี้มันจะเห็นได้แต่คนที่มีจิตใจสูง สูงกว่าที่จะไปคิดไปเห็นไปคิดผิดๆ...
ถ้ามีสติปัญญาถูกต้องอยู่กับเนื้อกับตัว มองดูที่ซากผีแล้ว ก็จะเห็นอะไรต่างๆ มากมายที่เป็นประโยชน์ ที่เป็นเครื่องเกื้อกูล ไม่ให้โง่ ไม่ให้หลง แต่กลับจะชักจูงไปในทางที่จะประพฤติถูก ประพฤติดีและประพฤติอย่างสูงคือปล่อยวาง ประพฤติไปในทางที่จะกำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลงเสีย
อย่างถ้าจะมองดูที่โครงกระดูกที่แขวนอยู่ข้างหน้าเรานี้ใครจะมองเห็นว่างามบ้าง เว้นไว้เสียแต่คนบางคนจะมองเห็นว่า มันแสดงให้เห็นความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และช่วยให้จิตใจสงบเย็นลงไปทันที มันเป็นมิตรสหายแก่เรา มันแสดงสิ่งที่มีประโยชน์แก่เรา หรือว่ามันแสดงของจริงอยู่ที่นั่น แสดงความจริงอยู่ที่นั่น คือที่ซากผีนั่นแสดงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่เต็มตัว แสดงความจริงบางอย่างบางประการอยู่เต็มตัว ยิ่งมองยิ่งเห็น ยิ่งเห็นก็ยิ่งรู้สึกว่างดงาม คือทำให้ว่างจากของสกปรกคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลงนั่นเอง ของสกปรกอย่างยิ่งนั้นคือกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง
ถ้าเป็นคนรักที่จะเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รักที่จะมีจิตใจสงบแล้ว เห็นซากผีย่อมจับตาและจับใจยิ่งกว่าคนที่ประดับตกแต่งสวยสดงดงามตามภาษามายาหลอกลวง ซึ่งไม่ใช่ของจริง เดี๋ยวนี้มาเห็นของจริงที่ซากผีจึงเห็นว่างามแล้วก็พอใจที่จะดู
ตอนที่ 2 "ดีอยู่ที่ละ"
ตายายท่านว่า "ดีอยู่ที่ละ" ส่วนคนสมัยนี้ว่าดีอยู่ที่ได้ ลูกหลานสมัยนี้พูดว่า "ดีอยู่ที่ได้" ได้เอามามากๆ ได้มาเท่าไรยิ่งมากยิ่งดี ส่วนตายายนั้นว่าดีอยู่ที่ละคือสละให้มันหมดไป มันเถียงกันอยู่อย่างนี้
ปู่ย่าตายายพูดไปด้วยความหมายอย่างไร เราเห็นได้ว่าท่านมีความหมายเหมือนพระพุทธเจ้า ในข้อที่กล่าวว่ายิ่งยึดมั่นถือมั่นเอาไว้เท่าไรก็ยิ่งเป็นความทุกข์มากเท่านั้น คือยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวกูของกูมากเท่าไร ก็ยิ่งมีความทุกข์มากเท่านั้น เพราะนั้นละเสียแม้โดยจิตใจ ละออกไปไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูของกูนี้ก็ยังไม่เป็นทุกข์แล้ว...
ปู่ย่าตายายอยู่ด้วยความเป็นสุขสงบ ลูกหลานก็อยู่ด้วยความเร่าร้อน เร่าร้อนมากถึงขนาดที่เรียกว่า "กลางคืนก็อัดควัน กลางวันก็เป็นไฟ" หาความสงบสุขไม่ได้ทั้งหลับและทั้งตื่น นี่การที่ลูกหลานมาพลิกไปเสียว่าได้จึงจะดี ไม่ยอมรับว่าละออกไปจึงจะดี ข้อที่ว่าได้จึงจะดีนี้มันหมายถึงได้ในทางวัตถุ เป็นเงินเป็นทอง เป็นข้าวเป็นของ เป็นเหยื่อของกิเลสตัณหาทั้งนั้น ไม่ใช่ได้มรรคผลนิพพาน เรื่องได้มรรคผลนิพพานนั้นเป็นเรื่องละ
อย่าได้เข้าใจผิดไปว่าสิ่งที่ว่าได้แล้วก็จะเป็นการดี มันไม่มีทางที่จะเป็นการดีที่ตรงไหน นอกจากจะเป็นปัญหายุ่งยากไปทั้งนั้น
แม้จะได้มาโดยสุจริต เอามายึดถือไว้ว่าเป็นตัวกูเป็นของกูอย่างนี้ มันก็เผารนหรือขบกัดบุคคลนั้นอยู่ทั้งกลางวันกลางคืนไม่มีสร่าง มันจึงไม่มีดีที่ตรงไหน
ถึงแม้ว่าได้มาเก็บรักษาไว้แต่อย่ารู้สึกว่า "ได้" ในใจต้องละออกไปจากความเป็นของตนนี้เรียกว่าละ มันจึงจะไม่เป็นทุกข์ ไม่วิตกกังวลเพราะการที่มีอะไรไว้หรือได้อะไรมา
ให้เห็นได้ว่าคำพูดของปู่ย่าตายายนี้ ในข้อที่ว่าดีที่อยู่ละนี้ไม่มีทางที่จะผิดเลย เป็นการถูกต้องโดยสมบูรณ์ ไม่มีส่วนบกพร่องอย่างใด และลูกหลานก็ยังไม่สนใจ หรือลูกหลานก็ยังไม่ยินดีที่จะประพฤติตามนี้ ก็เรียกว่าเราไม่ได้รับของดีจากตายายทั้งที่หวังจะได้ "งามอยู่ที่ซากผี" นั้นก็ไม่เอาอย่างหนึ่งแล้ว และให้ดีตรงที่ละนี้ก็ไม่เอาอีก
ตอนที่ 3 "พระอยู่ที่จริง"
พระอยู่ที่จริง ตายายหมายความว่าอย่างไร? ตายายไม่ได้พูดว่าพระอยู่ที่วัด ไม่ได้พูดว่าพระอยู่ที่โกนหัวนุ่งเหลือง หรือไม่ได้พูดว่าพระอยู่ที่ต้องทำพิธีอย่างนั้นอย่างนี้ ทำไอ้กรรมอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ว่าพระอยู่ที่จริง ตายายหมายความว่าคนที่บวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง สืบอายุศาสนาจริง ครบทั้งห้าจริงนี้จึงจะเรียกว่าเป็นคนจริงและเป็นพระ
ทีนี้คนฟังบางคนอาจจะคิดว่าต้องบวชเป็นพระเป็นเณรเสมอไปจึงจะเป็นพระ ความจริงนั้นไม่เป็นอย่างนั้น ความจริงนั้นมีอยู่ว่า
"ถ้าใครเป็นคนจริงคนนั้นก็เป็นพระ"
แม้อยู่ที่บ้านที่เรือนมีครอบครัวก็เป็นพระได้ เพราะเรายอมรับกันว่าพระโสดาบันอยู่บ้านอยู่เรือนมีภรรยาสามีก็มี พระสกิทาคาอยู่บ้านอยู่เรือนมีสามีภรรยาก็มี พระอนาคามีเป็นฆราวาสอยู่บ้านไม่อยู่วัดก็ยังมี แล้วทำไมพระจะอยู่ที่บ้านไม่ได้ พระอยู่ที่บ้านได้ก็เพราะว่าที่ไหนมีเรื่องจริง พระก็มีอยู่ที่นั่น จะมีการรู้จริง ปฏิบัติจริง ดับกิเลสได้จริง เป็นผู้ดับทุกข์จริง มันก็เรียกว่าเป็นพระได้
ข้อที่ว่าบวชจริงนั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องบวชอย่างพระอย่างเณรเสมอไป บวชอย่างชาวบ้านก็ได้ บวชอย่างชาวบ้านก็คือเป็นพุทธบริษัทที่ดี เป็นอุบาสก อุบาสิกาที่ดี เพราะคำว่าบวชนี้แปลว่า "เว้น" เท่านั้นเอง เมื่อเว้นสิ่งที่ควรเว้นได้แล้วก็เรียกว่าบวชทั้งนั้น
ฉะนั้นเราเลิกพูดเรื่องอยู่ที่บ้านหรืออยู่ที่วัดกันเสียที พูดถึงกันแต่ว่าที่ไหนมันมีการเว้นจริง ที่นั้นก็มีความจริงชนิดที่ทำให้คนเป็นพระได้ เป็นพระโสดา สกิทาคา เป็นอนาคา ก็ยังได้ถ้าให้มันจริง
เรามาสนใจที่จริงกันดีกว่า สนใจกันที่คำว่าจริงคำเดียวก็พอแล้ว ก็ทำอะไรให้มันจริง อย่าให้มันเป็นเท็จ เป็นมายา เป็นหลอกลวง ตัวเองและผู้อื่นต่อไปอีกเลย
เมื่อชั่วก็ให้มันชั่วจริงจะได้ละเสียจริงๆ ถ้าว่าดีก็ให้ดีจริงจะได้ประพฤติปฏิบัติกันให้จริงๆ อย่าเห็นว่าชั่วแล้วมันก็ยังไม่ยอมละแล้วบังคับตัวเองให้ละไม่ได้อย่างนี้มันเรียกว่าไม่จริง เช่น เล่นไพ่ก็รู้ว่าไม่ดีและไม่จริง กินสุรายาเมาก็รู้ว่าไม่ดีไม่จริง แต่แล้วก็ยังไม่ยอมละ นี้คือว่าไม่จริง ถ้าจริงมันก็ต้องละทันที แล้วมันก็มีการเว้นจริง มีผลดีจริง มีอะไรเป็นจริงขึ้นมา มันก็เป็นพระได้เหมือนกัน
อย่าว่าแต่ผู้ใหญ่เลย แม้แต่เด็กเล็กๆ ถ้ามันมีอะไรจริงก็จงยกมือไหว้มันเถิด เพราะว่ามันก็เป็นพระเหมือนกัน มันเป็นพระอยู่ที่จริง อยู่ที่ความจริงดังนี้ นี้ปู่ย่าตายายพูดถูกมากหรือถูกน้อยก็ลองคิดดูว่า พระอยู่ที่จริงนี้มันเป็นอย่างไร
ปู่ย่าตายายของเราพูดสั้นที่สุดว่าพระอยู่ที่จริง แต่ลูกหลานก็หาพระนั้นไม่พบ ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน แล้วยังไปสนใจผิดพระแล้วยังไปติดต่อผิดพระ ไปทำบุญผิดพระ อย่างนี้ก็ยังมีได้ เพราะไม่นิยมนับถือว่าพระอยู่ที่จริงนั่นเอง ฉะนั้นขอให้มีหลักเกณฑ์ที่แน่วแน่กันเสียใหม่ว่าพระนั้นอยู่ที่จริง
ตอนที่ 4 "นิพพานอยู่ที่ตายก่อนตาย" (ตอนสุดท้าย)
นิพพานนั้นอยู่ที่ตายเสียก่อนตาย อย่าให้ทันเข้าโลง ข้อนี้หมายความลึกซึ้งมาก เพราะคำว่าตายคือไม่ใช่ตายทางร่างกาย แต่ว่าเป็นตายของกิเลสตัณหา เป็นตายของจิตของใจที่ยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกู-ของกู คือท่านถือกันว่าเมื่อมีความรู้สึกว่าตัวกูหรือของกูอยู่นั้นน่ะ คือ "เกิด" ขึ้นมา แต่ถ้าไม่มีความรู้สึกว่าตัวกูว่าของกูแล้วนั้นว่าคือ "ดับ" ลงไป คือตาย
เรารีบทำให้ความยึดมั่นว่า "ตัวเรา" นั่นดับไปเสียโดยสิ้นเชิง อย่าให้เกิดมาอีกได้ ก่อนแต่ที่ร่างกายจะตาย ทำได้อย่างนี้เรียกว่าตายเสียก่อนตาย ตายอย่างนี้ไม่มีตายอีกต่อไป เพราะว่าตัวกูไม่มีอยู่อีกต่อไปแล้ว มันจึงไม่ตายอีกต่อไป มันจึงเป็นเพียงการเปลี่ยนไปของสังขารเท่านั้นเอง ก็เป็นเรื่องเปลี่ยนไปๆ ของดินน้ำลมไฟ อากาศ วิญญาณ ของธาตุ ของขันธ์ ของอายตนะ ไม่ ใช่ของกู
คนโดยมากเข้าใจว่าต้องทำอะไรหลายสิบชาติ หลายร้อยชาติ หลายพันชาติ หลายแสนชาติ จึงจะได้นิพพาน จึงมัวแต่พูดอย่างนกแก้วว่า "นิพพานะปัจจโยโหตุ นิพพานะปัจจโยโหตุ" ไม่รู้จักสิ้นจักสุด ขอจงเป็นปัจจัยแก่นิพพานอนาคตกาลเบื้องหน้าโน้นเทอญ แล้วก็ไม่รู้นานสักเท่าไหร่
คำว่าชาติของพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้หมายถึงการเข้าโลง แต่หมายถึงการเกิดอุปาทานว่าตัวกูของกูครั้งหนึ่งเรียกว่าชาติหนึ่ง เมื่อมีรูปเสียงกลิ่นรสเป็นต้น มากระทบตาหูเป็นต้น เกิดเป็นผัสสะ เกิดเป็นเวทนาและเกิดเป็นตัณหาอยากอย่างนั้นอย่างนี้ มีตัวกูเป็นผู้อยากขึ้นมา เรียกว่าอุปาทาน ก็เรียก ว่าเกิดครั้งหนึ่ง เรียกว่าชาติหนึ่ง แล้วมันก็เป็นทุกข์ทุกชาติ เพราะฉะนั้นวันหนึ่งมันเกิดได้หลายสิบชาติ หลายร้อยชาติ
เกิดตัวกูในความรู้สึกขึ้นมาครั้งหนึ่งเรียกว่าชาติหนึ่ง ถ้าไม่เกิดความรู้สึกอย่างนี้แม้ร่างกายจะเกิดมาจากท้องแม่มันก็เหมือนท่อนไม้อยู่นั้นเอง ถ้าจิตใจมันมีความคิดไปในทางอื่น ไม่เป็นไปในทางตัวกูของกู มันก็ไม่มีความหมายเป็นการเกิด
ดังนั้นมันจึงต้องมีหลักว่า ในร่างกายที่กำลังมีความรู้สึกว่าตัวกูเท่านั้น จึงจะเรียกว่าเป็นชาติ หรือความเกิด แม้ร่างกายที่กำลังปราศจากความรู้สึกว่าตัวกูหาได้มีชาติหรือความเกิดไม่ เช่น ในเวลาหลับเป็นต้น หรือในเวลาที่ไม่ได้คิดนึกไปในทางเป็นตัวกูของกูเป็นต้น ให้ถือว่าเป็นเพียงขันธ์ธาตุ อายตนะเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยล้วนๆ ก็แล้วกัน ไม่มีตัวกู เฉพาะเวลาที่จิตปรุงแต่ง คิดนึกเป็นตัวกูขึ้นมาอย่างนั้นเรียกว่าชาติ แล้วชาตินั้นมันอยู่กี่นาทีก็ตามใจ หรือกี่ชั่วโมงก็ตามใจ แล้วมันดับไป ก็เรียกว่าสิ้นไปชาติหนึ่ง กว่ามันจะเกิดใหม่
ชาติอย่างนี้มันมีระยะอันสั้น ทำให้เราสามารถที่จะปรับปรุงมันได้ ควบคุมมันได้ แก้ไขมันได้ เอาชนะมันได้ และสามารถทำให้มันสิ้นสุดลงได้ อย่างนี้มันได้เปรียบข้างเรา ดังนั้นเรามาเอาข้างนี้อย่างนี้กันดีกว่า ดีกว่าที่ไปเอาชาติทางวัตถุ เกิดมาจากท้องโดยร่างกายแล้วอยู่ไปจนเข้าโลงอย่างนี้มันเป็นสิ่งที่ตายตัว ทำอะไรไม่ได้
ความทุกข์ก็มันไม่ได้อยู่ที่นั่น ความทุกข์มันอยู่ที่ยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูนี้ต่างหาก แม้ร่างกายจะมีมา ถ้าไม่ยึดว่าเป็นตัวกูเป็นของกู มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร แม้ว่าความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายจะมีอยู่ แต่ถ้าไม่ได้ยึดว่าเป็นของกูมันก็ไม่เป็นทุกข์อะไร ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายที่ถูกยึดมั่นด้วยอุปาทานเท่านั้นจึงจะเป็นทุกข์ คือ ไปยึดแค่ว่าเป็นความเกิดของเรา เป็นความเจ็บของเรา เป็นความแก่ของเรา เป็นความตายของเรา มันจึงจะเป็นทุกข์ ถ้าไม่มีอุปาทานไปยึดอย่างนั้น ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายนั้นก็ไม่เป็นทุกข์ เป็นเรื่องเพียงธรรมชาติเฉยๆ ไป
คำว่าชาติเป็นอย่างนี้ เมื่อเราถือหลักอย่างนี้เราก็ควบคุมได้ คือควบคุมไม่ให้มันเกิดได้ ในเมื่อตากระทบรูป หูกระ ทบเสียง จมูกกระทบกลิ่นเป็นต้น หรือว่าเมื่อใจมันจะน้อมนึกคิดไปทางไหนก็ตาม เราก็ควบคุมมันได้ ให้เป็นไปในเรื่องของความรู้และสติปัญญาอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้เป็นไปในทางที่จะเกิดอุปาทานยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูว่าของกูดังนี้ เราจึงหยุดความเกิดนั้นเสียได้ คือทำให้ความตายของอุปาทานนั้นสิ้นสุดลงไปได้ แล้วเราก็สามารถตายเสีย ก่อนตายเหมือนที่ปู่ย่าตายายสอนให้ แล้วเราก็ได้รับประโยชน์เต็มที่ คือ นิพพาน ไม่มีจิตใจที่มีกิเลสหรือเป็นทุกข์อีกต่อไป เพราะสามารถตายเสียก่อนตายดังนี้
- พุทธทาสภิกขุ
- ที่มา : เทศน์วันส่งตายาย พ.ศ. ๒๕๐๕
- อ้างอิงจาก : หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ : Buddhadasa Indapanno Archives
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment