Thursday, October 24, 2013

อบายทั้ง ๔ ในภาษาธรรม


เรื่องอบายทั้ง ๔ ได้แก่ 
  1. นรก 
  2. เดรัจฉาน 
  3. เปรต 
  4. อสุรกาย 
อบายในภาษาคนนั้น จะตกหรือจะถึง ก็ต่อเมื่อตายเข้าโลงไปแล้ว ไปเกิดใหม่จึงจะถึงอบายเหล่านั้น

ส่วนในภาษาธรรมะนี้ อบาย หมายถึงสิ่งที่มีอยู่ในใจของคน
  1. เมื่อใดร้อนใจ เมื่อนั้นเป็นนรก 
  2. เมื่อใดโง่ เมื่อนั้นเป็นสัตว์เดรัจฉาน 
  3. เมื่อใดหิวกระหาย ทะเยอทะยาน เมื่อนั้นก็เป็นเปรต 
  4. และเมื่อใดขี้ขลาด เมื่อนั้นก็เป็นอสุรกาย 
อบายทั้ง ๔ มีอยู่แล้วในคน ในใจของคน ไม่ต้องรอต่อเมื่อตายแล้ว
เข้าโลงไปแล้ว ไปเกิดใหม่ จึงจะได้จึงจะถึง มันต่างกันอยู่อย่างนี้

พระพุทธเจ้าตรัสว่าอะไร ๆ ก็มีอยู่ในคน คือในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่ง
อันมีพร้อมทั้งสัญญาและใจ นี่ก็หมายความว่า อบายนั้นมีอยู่แล้วในคน

ถ้าใครอยากจะรู้รสก็ลองประพฤติไปในทางบาป ทางของอบาย ที่เรียกว่าอบายมุข
เช่นดื่มน้ำเมา เช่นเล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร ขี้เกียจคร้านทำการงาน
อย่างอื่นลองดู นี้เรียกว่า อบายมุข คือปากทางของอบาย
พอทำอย่างนี้อย่างใดอย่างหนึ่งเข้า ก็ต้องตกอบายทันที

ยกตัวอย่างเช่น ไปเล่นการพนันเข้า
  • มันก็ร้อนใจเป็นไฟสุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแพ้ และเมื่อยังไม่แพ้ มันก็กลัวจะแพ้ ความร้อนใจนั้นเป็นนรก สมกับที่เรียกว่า การเล่นการพนันเป็นอบายมุข คือเป็นปากทางแห่งอบาย 
  • ทีนี้คนเล่นการพนันนั้นคือคนโง่ เพราะคนไม่โง่ก็ไม่ไปคิดรวยด้วยการพนัน ดังนั้นมันก็เป็นสัตว์เดรัจฉานอยู่แล้ว 
  • ในขณะที่เล่นการพนัน แล้วคนเล่นการพนันต้องหิว ต้องทะเยอทะยานในการที่จะได้ เหมือนใจจะขาด เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นเปรตอยู่เสร็จแล้ว 
  • ในขณะที่เล่นการพนัน ทีนี้คนที่เล่นการพนัน ย่อมขี้ขลาดในการที่จะเสีย มันก็เป็นอสุรกายอยู่แล้ว 
เป็นอันว่าอบายมุขคือการเล่นการพนันนั้น ทำให้ตกอบาย ครบได้ทั้ง ๔ อย่าง ที่นี่และเดี๋ยวนี้

ถ้าใครไม่ตกอบายในภาษาธรรม คือไม่ตกอบายชนิดนี้แล้ว
แม้จะตายเข้าโลงไปแล้ว ก็ไม่ตกอบายชนิดไหนหมด
เพราะฉะนั้นระวัง อย่าให้ตกอบายอย่างภาษาธรรม ที่นี่และเดี๋ยวนี้
แล้วก็จะไม่ตกอบายภาษาคน ที่ว่าจะตกต่อเมื่อตายแล้ว เป็นต้น

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า ถ้ารู้ภาษาธรรมเสียอย่างเดียวแล้ว ภาษาคนก็หมดปัญหาไปด้วย
จึงขอให้ท่านทั้งหลายทุกคน สนใจในเรื่องภาษาธรรม ซึ่งเป็นภาษาของพระพุทธเจ้า
ให้มีความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องกันจงทุกคนเถิด จะเป็นการประหยัดเวลาอย่างยิ่ง
คือจะเสียเวลาน้อยที่สุด ในการรู้ธรรมและปฏิบัติธรรม และได้รับผลของการปฏิบัติธรรม
นี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ภาษาคนกับภาษาธรรมนั้นต่างกันอย่างไร

... พุทธทาสภิกขุ
... เทศนาปีใหม่ ๒๕๑๐
... via หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ : Buddhadasa Indapanno Archives

No comments:

Post a Comment