Friday, September 20, 2013

The Joymaker

เครื่องสังเคราะห์ความสุข (The Joymaker)
ที่คุณยัง “ไม่มี” ความสุข
เพราะคุณยัง “ไม่เข้าใจ” ความสุข
แม้เราจะได้ยินคำว่า “ความสุขอยู่ที่ใจ” กันมาบ่อยครั้ง แต่จริงๆแล้วเราเข้าใจความหมายอันลึกซึ้งของคำๆนี้ ดีแค่ไหนกัน …

ในสมองของมนุษย์ทุกคนมีสารสื่อประสาท (neurotransmitter) อยู่ 4 ชนิด ที่เมื่อหลั่งออกมาแล้วจะทำให้เรารู้สึกมีความสุข คือ
  1. โดพามีน (dopamine) 
  2. เซโรโทนิน (serotonin) 
  3. ออกซิโทซิน (oxytocin) 
  4. เอ็นดอร์ฟิน(endorphine) 
สารแห่งความสุขทั้งสี่ตัวนี้จะทำงานร่วมกันเสมอ โดยการทำงานของสารแต่ละตัวจะสามารถอธิบายโดยย่อ รวบยอด ได้ดังนี้ …

1. โดพามีน (สารสำเร็จ) จะพรั่งพรูออกมามากเมื่อเราได้รับในสิ่งที่ต้องการ และเมื่อความอยากได้รับการตอบสนอง เช่น อยากกินชีสเค้กแล้วได้กิน อยากได้หอมแก้มคนๆหนึ่งแล้วได้หอม อยากแข่งขันได้ที่หนึ่งแล้วทำได้สำเร็จ ฯลฯ

2. เซโรโทนิน (สารสงบ) จะพรั่งพรูออกมามากเมื่อเรากำลังรู้สึกสงบ สบาย และผ่อนคลาย เช่น เมื่อเรากำลังนั่งสมาธิ เมื่อเรากำลังนอนฟังเพลงที่ชอบ เมื่อเรากำลังเอนกายบนโซฟาที่นุ่มสบาย ฯลฯ

3. ออกซิโทซิน (สารสัมพันธ์) จะพรั่งพรูออกมาเมื่อเรากำลังมีความรัก เมื่อได้ยินเสียงคนรัก ได้อยู่ใกล้คนรัก หรือได้สัมผัสคนรัก และจะหลั่งออกมามากเป็นพิเศษในแม่ที่เพิ่งคลอดบุตร โดยออกซิโทซินจะหลั่งออกมาทั้งในความรักแบบหนุ่มสาว แบบครอบครัว และแบบเพื่อนที่มีความผูกพันกันมาก โดยสารออกซิโทซินจะทำให้เรารู้สึกสบายใจ ปลอดภัย และอบอุ่น

4. เอ็นดอร์ฟิน (สารสำราญ) จะพรั่งพรูออกมาทุกครั้งที่เรากำลังรู้สึกมีความสุข ดังนั้นสารเอ็นดอร์ฟินจึงหลั่งออกมาพร้อมๆกับโดพามีน เซโรโทนิน และออกซิโทซิน นอกจากนั้น เอ็นดอร์ฟินจะหลั่งออกมามากเป็นพิเศษตอนที่เราออกกำลังกาย หัวเราะ หรือยิ้ม โดยเอ็นดอร์ฟินจะทำหน้าที่เป็นยาแก้ปวดจากธรรมชาติ (natural pain-killer/morphine from nature) ดังนั้น เวลาเรากำลังมีความสุข เราจึงรู้สึกเจ็บปวดน้อยลงทั้งทางร่างกายและจิตใจ บาดแผล ความเมื่อยล้า และความทรงจำที่ไม่ดี สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะทำอันตรายอะไรเราไม่ได้เลยในขณะที่เรากำลังมีความสุข

การท่องจำความเหมือนหรือความแตกต่างของสารแห่งความสุขทั้งหลายเหล่านี้ ไม่ใช่สิ่งสำคัญ (เพราะจะไม่มีการสอบเก็บคะแนนปลายภาค) แต่สิ่งสำคัญคือการตระหนักรู้ว่าสารทั้งสี่ตัวนี้ ไม่ได้มีอยู่ในสิ่งของใดๆทั้งสิ้น แต่มันมีอยู่อย่างเต็มล้นในสมองของเราเอง …
  • ในแบงค์พันไม่มีสาร dopamine 
  • เก้าอี้ที่นุ่มที่สุดในโลกไม่ได้ฉาบทาไปด้วยสาร serotonin 
  • เสียงของคนที่เรารักไม่ได้บรรจุเอาไว้ซึ่งสาร oxytocin 
  • และไม่มีอาหารชนิดใดในโลกนี้ที่ใส่สาร endorphine 
  • … ความสุขทั้งหมด สมองของเราเป็นตัวสังเคราะห์ขึ้นมาเอง …

ทุกสิ่งที่อยู่ภายนอกตัวเรา ทำหน้าที่เพียง “กระตุ้น” สารความสุขในตัวเราให้หลั่งออกมา แต่สรรพสิ่งในตัวของมันเองไม่ได้มีสารแห่งความสุขใดๆสลักฝังมากับมัน
  • แบงค์พันเป็นเพียงเศษกระดาษน่ารำคาญ สำหรับเศรษฐีพันล้านที่ไม่เห็นคุณค่าของเงิน
  • เก้าอี้ที่นุ่มที่สุดในโลกคือความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน สำหรับคนที่เป็นริดสีดวงทวารเม็ดเบ้อเริ่ม
  • เสียงของคนรักคือความโศกเศร้าอันแสนสาหัส ถ้าเจ้าของเสียงได้ลาจากโลกนี้ไปแล้ว
  • และอาหารที่อร่อยที่สุดในโลกก็คือยาพิษที่น่าสะพรึงกลัว ถ้าผู้กินเกิดแพ้มัน

สรรพสิ่ง ≠ ความสุข
สรรพสิ่ง + การปรุงแต่ง = ความสุข

สิ่งต่างๆไร้ความหมายและไร้ความสุขในตัวของมันเอง แต่ใจเราสังเคราะห์ความสุขขึ้นมาจากค่านิยม การตีความ ประสบการณ์ ความรู้สึก (เวทนา) ความทรงจำ (สัญญา) และการปรุงแต่ง (สังขาร)

ตั้งแต่เล็กจนโต เราปล่อยให้จิตใต้สำนึกทำหน้าที่สังเคราะห์ความสุขจากสิ่งต่างๆโดยอัตโนมัติ และผลของมันก็มักไม่ได้เป็นอย่างที่เราต้องการ และการที่มนุษย์พยายามแสวงหาความสุขจากสิ่งที่ไม่มีความสุขอยู่ในตัวของมันนี่เอง ที่ทำให้มีผู้คนมากมายนับไม่ถ้วนที่แม้จะดัง รวย สวย และเก่ง แต่ก็ยังคงมีความทุกข์มากกว่าขอทานที่นอนห่มผ้าเช็ดตัวขาดๆอยู่ใต้สะพานลอย
  • ถ้าความดังให้ความสุข คงไม่มีดาราหน้าบึ้ง
  • ถ้าความรวยให้ความสุข คงไม่มีเศรษฐีร้องไห้
  • ถ้าความสวยให้ความสุข คงไม่มีคนหน้าตาดีฆ่าตัวตาย
  • ถ้าเนื้อคู่ให้ความสุข คงไม่มีคนทุกข์หลังแต่งงาน

มนุษย์ฝากสิ่งอื่นให้ช่วยสังเคราะห์ความสุขให้ ตั้งแต่สิ่งของ เงินทอง ความโด่งดัง คำชื่นชม สภาพอากาศ การจราจร ตำแหน่ง หน้าที่ ล็อตเตอรี่ แฟน พ่อ แม่ ลูก หัวหน้า ลูกน้อง พรรคการเมือง นักการเมือง หนัง ละคร เฟซบุ๊ค เกมในเฟซบุ๊ค ฯลฯ แต่เมื่อเรารู้สึกว่าสิ่งต่างๆเหล่านี้ไม่อาจสังเคราะห์ความสุขได้อย่างที่ใจเราต้องการ (อีกต่อไป) เราจึงเริ่มรู้สึกหงุดหงิด เบื่อ เครียด โกรธ เซ็ง เศร้า และหลายครั้งเราก็จะโทษโลก โทษสังคม โทษคนอื่น โทษตัวเอง โทษโชคชะตา หรือโทษกรรมที่ทำให้เราต้องเป็นทุกข์

ตามกฎไตรลักษณ์ซึ่งเป็นกฎเหล็กของจักรวาล
  • ไม่มีสิ่งใดเที่ยง (อนิจจัง)
  • ไม่มีสิ่งใดทน (ทุกขัง)
  • และไม่มีสิ่งใดแท้ (อนัตตา)
ดังนั้น เมื่อเราฝากความหวังให้สิ่งที่ไม่เที่ยง ไม่แท้ และไม่ทนมาสังเคราะห์ความสุขให้ เราก็ย่อมต้องผิดหวังและรู้สึกทุกข์ใจเป็นธรรมดา

เราทำตัวประหนึ่งเศรษฐีหมื่นล้านที่ปฏิญาณตนว่าจะไม่มีความสุขจนกว่าจะแทงหวยถูก ซึ่งก็หมายความว่า เรามีความสุขพร้อมอยู่แล้วในตัวอย่างมากมายมหาศาล เพราะตัวของเราคือแหล่งผลิตความสุขแหล่งเดียวในจักรวาล แต่เรากลับตั้งเงื่อนไขในการมีความสุขขึ้นมาเอง โดยเอามันไปฝากไว้กับสิ่งของ (และผู้คน) ที่ไม่มีความแน่นอน…

ทั้งหมดนี้หมายความว่าอย่างไร … หมายความว่าเราควรจะหยุดการตามล่าฝันและสรรหาทุกอย่าง แล้วนั่งนิ่งๆเพื่อสังเคราะห์ความสุขด้วยตัวเองไปจนเหี่ยวแห้งตายใช่ไหม …

เปล่าเลย แต่มันหมายความว่า ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน เป็นใคร หรือทำอะไรอยู่ จริงๆแล้วในตัวพวกเราทุกคน “มีความสุข” ซุกซ่อนอยู่ตลอดเวลา แต่อยู่ที่ว่าเราจะ “รู้วิธี” สังเคราะห์มันขึ้นมาเองได้หรือเปล่า

ซึ่งวิธีแรกในการสังเคราะห์ความสุข คือการเริ่ม “ขอบคุณในสิ่งที่มี” และ “ยินดีในสิ่งที่ได้” ไม่ใช่เอาแต่ “ทุรนทุรายไปกับสิ่งที่ขาด” เพราะการลองมองสองข้างทางเพื่อเก็บเกี่ยวความสุข ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องหยุดเดินเสียหน่อย จริงไหมครับ…

แต่ถ้าถามว่าในโลกนี้จะมีใครสอนวิชา “สังเคราะห์ความสุข” อย่างจริงจังให้กับเราได้บ้าง เพราะมันช่างเป็นศาสตร์ที่น่าศึกษาเสียเหลือเกิน ก็เห็นจะมีอยู่ปรมาจารย์อยู่องค์หนึ่งครับ ท่านทรงเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในนาม …

“พระพุทธเจ้า”

และถ้าเราอยากพบกับท่าน ก็ไม่ต้องเดินทางไปไกลถึงอินเดียหรือเสียตังค์ซื้อเครื่องย้อนเวลานะครับ เพราะถ้าผมจำไม่ผิด ปรมาจารย์ท่านนี้เคยตรัสสอนลูกศิษย์เอาไว้ประโยคหนึ่งว่า …
โย ธมฺมํ ปสฺสติ โส มํ ปสฺสติ
“ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา…”
Maybe happiness is not something we have to pursue,
but it is something in front of us which we cannot see.
- K.S. Khunkhao 
“บางทีความสุขอาจไม่ใช่สิ่งที่เราต้องตามหา
ทว่ามันคือสิ่งที่อยู่ตรงหน้า แต่เรายังมองไม่เห็น”
- ขุนเขา

... Credit - ขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร (Khunkhao Sindhusen Khaejornbut)
... via @ http://www.dhamdee.com/?p=5526

No comments:

Post a Comment