Monday, July 8, 2013

รำลึก 20 ปี มรณกาล ท่านพุทธทาสภิกขุ


8 กรกฎาคม 2536 ท่านพุทธทาสภิกขุ (2449-2536) มรณภาพอย่างสงบที่สวนโมกขพลาราม วัดธารน้ำไหล อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

ขอนำเหตุการณ์ในวันแห่งลมหายใจช่วงสุดท้ายของท่านพุทธทาส ซึ่งถ่ายทอดโดย “พระอาจารย์สิงห์ทอง เขมิโย” (พระอุปัฏฐาก หรือพระผู้คอยดูแลรับใช้ท่านมากว่าสิบปี ตั้งแต่ท่านยังสุขภาพดี กระทั่งอาพาธด้วยโรคตามอายุขัย) ... มาแบ่งปันเป็นธรรมทาน

::::::::::::::::::

“เราจะตายแล้วโว้ย!!”

ในโลกแห่งธรรม คำสอนของท่านพุทธทาสยังคงเคลื่อนไหวอยู่เสมอ... ทุกขณะจิต แม้ในวาระสุดท้ายของชีวิต ท่านก็ยังคงใช้ร่างกายและจิตใจของตน พิจารณาสังขาร เป็นแบบอย่างให้คนบนโลกนี้ได้เดินรอยตาม

“ด้วยพระเดชพระคุณของหลวงพ่อ ตื่นมาตอนตีสี่ ปลุกเราบอก “ทอง ตื่น ๆๆ เราจะตายแล้วโว้ย” เรายังนอนไม่ตื่น เอามือลูบที่ตา มองไปแล้วเห็นท่านนั่งเขียนหนังสืออยู่ เราก็คิดในใจ จะตายก็สมควรตาย ถ้ายังเขียนหนังสือได้แบบนี้ (หัวเราะ) เราก็คิดแบบคนซื่อน่ะนะ

ท่านบอกให้ไปตามคนที่ดูเรื่องพิมพ์หนังสือมาให้ท่าน ท่านบอกว่า “ไม่ไหวแล้วโว้ย เอามันไม่อยู่แล้ว”
แสดงว่าท่านดูร่างกายและจิตใจตัวเองไปทุกขณะ รู้ตัวมีสติตลอด เรื่องกายและลมหายใจที่ท่านสอนมา ท่านเอามาใช้แม้กระทั่งลมหายใจสุดท้าย”

::::::::::::::::::

ตอนที่ท่านป่วยหนัก เรื่องได้ยินถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงส่งหมอหลวงมานิมนต์ให้ไปรักษาตัว

“มาถึงก็รายงานตัวเลยว่าเป็นหมอ เป็นตัวแทนในหลวงมานิมนต์ เป็นคนทั่วไปจะตอบว่าอะไร คงรีบไปเลย ดีใจมาก

แต่ท่านตอบว่า “เราไม่หอบสังขารหนีความตายโว้ย ไปบอกในหลวงท่านด้วย” แล้วหมอเขาจะกล้าไปรายงานแบบนี้ไหม (หัวเราะ)

นี่คือความเด็ดขาดของท่าน พอถึงเวลาที่รู้ว่าสู้กับมันไม่ไหวแล้ว ท่านก็พิจารณามันไปเรื่อย ๆ และปล่อยวางไปตามอาการ”

ด้วยโรคที่รุมเร้ามากมาย ในหลวงท่านจึงทรงส่งหมอมาดูแล

“ท่านป่วยเป็นความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคเก๊า เป็นสารพัดโรค กินยาวันละเป็นกำๆ ตอนนั้นก็อายุ 80 กว่าแล้ว แต่ท่านไม่เคยมีปัญหาเรื่องอารมณ์ ไม่เคยหงุดหงิดเลย เพราะถ้าเป็นแบบนั้น คงจะไม่เป็นพุทธทาส ถ้าคุณทำได้แบบท่าน คุณรวยอารมณ์แน่นอน”

::::::::::::::::::

“ท่านเป็นโรคเก๊า ปวดจนลุกไม่ขึ้น ก็แค่เอายาลดกรดเล็ก ๆ เข้าไปในปาก แล้วบอกว่าไปตามคนทำหนังสือมา มาทำหนังสือกัน ถ้าเป็นเรา เราจะมีใจทำไหม ปวดเก๊าแบบนี้

แต่ท่านรู้ทันไง ท่านก็ปล่อยให้ร่างกายเจ็บปวดไป ส่วนท่านก็เอาจิตไปเพ่งไว้ที่การเขียนหนังสือ ไม่เดือดร้อนกับมัน

ในเมื่อเอามันไม่อยู่ ห้ามมันไม่ได้ ก็ปล่อยมันไป ให้พิจารณาหนังสือ พร้อมกับปล่อยให้มันปวดไป เดี๋ยวความปวดมันก็หายไปพร้อมๆ กับหนังสือเสร็จตอนเย็นนั่นแหละ

เวลานัดใคร เขาจะมาไม่มาก็ช่าง นายกฯ จะมาเยี่ยมก็ช่างเขา ไม่ไปนั่งกังวล ท่านก็นั่งเขียนหนังสือของท่านไปเรื่อย พอแขกมาท่านก็ไปต้อนรับ เสร็จท่านก็มาเขียนหนังสือต่อ

ท่านจัดสรรชีวิตของท่าน ไม่เคยปล่อยให้ขึ้นลงไปตามอารมณ์ แต่คนทั่วไป ไม่เคยจัดสรร เพราะมัวแต่ไปนอนกอดอารมณ์ ทุกข์มันก็เลยเกิด”

::::::::::::::::::

เวลาล่วงเลย จากตอนปลุกพระสิงห์ทองจนถึงหกโมงเช้า ท่านสั่งลาว่า “เธอฉันเพลแทนเราด้วยนะ” แล้วก็หยิบพวงกุญแจที่บั้นเอวออกมาและบอกว่า “เราไม่อยากตายคาพวงกุญแจ” จากนั้น ยื่นให้พระสิงห์ทอง

“ท่านจัดการทุกอย่างไว้หมดเลย แสดงว่าท่านรู้ว่ากำลังจะตาย จนประมาณ 7 โมง คนอื่นที่นั่งเฝ้าอยู่ด้วยกันก็เลยบอกว่า อย่ากวนท่านเลย ไปเถอะ หลังจากนั้น 30 นาทีให้หลัง ท่านก็ถึงเริ่มบอกว่า “ทอง ลิ้นเราแข็งแล้วนะ”

ท่านลองตามอาการไปเรื่อย ๆ นี่แหละคือธรรมะข้อสุดท้ายที่ท่านให้ไว้ ใช้สังขารของท่านสอน ให้ตามรู้ตามเห็นทุกอย่าง ท่านไม่เผลอ มองเห็นสภาวะการเปลี่ยนแปลงของร่างกายทุกขณะจริงๆ”

กระทั่งวาระปลงศพในวัย 87 “พุทธทาส อินทปัญโญ” ก็ยังได้แสดงธรรมบทสุดท้ายเอาไว้ เป็นธรรมบนกองเพลิงให้เห็นความไม่เที่ยงแท้ ทั้งยังฝากฝังแนวคิดสำคัญ เตือนใจพุทธศาสนิกชนทุกผู้ทุกนามเอาไว้ว่า

“โลงศพของอาตมา ก็คือ ความดีที่ทำไว้ในโลก ด้วยการเผยแผ่พระธรรม, ป่าช้าสำหรับอาตมา ก็คือ บรรดาประโยชน์และคุณทั้งหลาย ที่ทำไว้ในโลกเพื่อประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์”

::::::::::::::::::

-- เมื่อกิเลสยึดครองโลก --
เมื่อกิเลส ไหลนอง ยึดครองโลก
มันสุดแสน โสโครก ที่โกรกไหล
เมื่อกระแส ไฟตัณหา ไหม้พาไป
ทิ้งซากไว้ ระเกะระกะ อนิจจัง 
กลับยกย่อง ว่านั้นสิ่ง ศิวิไลซ์
ยั่วความใคร่ เพิ่มเหยื่อ แก่เนื้อหนัง
เป็นเครื่องล่อ กามา บ้าติดตัง
ทั่วโลกคลั่ง ก็ยิ่งคล้าย อบายภพ  
ทั้งแก่เฒ่า สาวหนุ่ม ล้วนจนกาม
เกลียดศีลธรรม เห็นเป็นหนาม ระคายขบ
อาชญากรรม ลุกลาม สงครามครบ
ร้อนตลบ โลกกิเลส สังเวชจริง ฯ
:::::::::::::::::::

... Credit : สกู๊ป 'ตามรอย “พุทธทาส” ในมุมที่คุณอาจไม่เคยรู้!' | Live-Lite | manager.co.th
... via Life 101 – Fan Page

No comments:

Post a Comment